ประเด็นยุทธศาสตร์ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1
พัฒนาการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของประเทศและสามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ โดยมีเป้าประสงค์ที่จะผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ มีคุณสมบัติตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ/ประเทศ และ เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ(สามารถเรียนต่อและทำงานในระดับนานาชาติ) ซึ่งสถาบันฯ จะต้องพิจารณาทบทวนการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการจัดการเรียนการสอน โดยเน้นภาคปฏิบัติให้นักศึกษาคิดได้ทำได้ เพิ่มเติมทักษะทางภาษา/คอมพิวเตอร์และเพิ่มเนื้อหาทางด้านคุณธรรม จริยธรรม การเตรียมความพร้อมด้านอาคารสถานที่ ห้องปฏิบัติ และ เครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัยและอย่างเพียงพอ
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2
พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสร้างความเป็นเลิศในระดับชาติและนานาชาติ โดยมีเป้าประสงค์ที่จะส่งเสริม สนับสนุน และสร้างงานวิจัย เพื่อสร้างองค์ความรู้ พัฒนาประเทศและเชิงพาณิชย์ ซึ่งผลงานวิจัยสามารถไปใช้แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม และอุตสาหกรรมได้
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 4
พัฒนาการให้บริการวิชาการหลายรูปแบบสู่สังคม โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้บริการและถ่ายทอดองค์ความรู้หลายรูปแบบสู่สังคม มีคุณภาพตรงกับความต้องการของผู้บริการ ซึ่งควรจะมีการปรับปรุงระบบ วิธีการ หลักเกณฑ์ในการให้บริการเพื่อความเป็นธรรมและสนับสนุนให้บุคลากรรับงานบริการโดยผ่านสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามเจตนารมณ์ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยเฉพาะประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2 และ 4 จำเป็นจะต้องมีพื้นที่รองรับและสนับสนุนการดำเนินงานดังกล่าว
ในการนี้ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังและจังหวัดสุพรรณบุรีได้ตกลงร่วมมือกัน เนื่องจากจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นพื้นที่ใกล้เคียงและสะดวกเหมาะสมที่จะให้คณาจารย์ นักวิจัย และนักวิชาการมาถ่ายทอดเทคโนโลยีและการวิจัยได้
สิ่งสำคัญคือ พื้นที่ของจังหวัดสุพรรณบุรี มีความเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะเป็นศูนย์วิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยีการเกษตรสู่ภาคประชาชน ซึ่งยังไม่มีสถาบันการศึกษาระดับสูงใดๆ เข้ามาดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จึงใคร่ขอใช้พื้นที่ป่าเสื่อมโทรมในเขตอำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ประมาณ 620 ไร่ เพื่อดำเนินการเป็นศูนย์วิจัยและถ่ายทอดวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ พัฒนาอาชีพต่างๆ ให้แก่ประชาชนในจังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดใกล้เคียง